วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

ชะมดเช็ด

ชะมดเช็ด
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Small Indian Civet
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Viverricula malaccensis
ลักษณะทั่วไป ชะมดเช็ดมีขนาดเล็กกว่าชะมด หรืออีเห็นชนิดอื่น ขนสีน้ำตาลจาง มีลายสีดำอยู่บนหลัง 5 ลาย ลายยาวจากคอถึงโคนหาง ข้างตัวมีลายเป็นจุดสีดำเรียงเป็นแนววิ่งไปตามความยาวของลำตัว หางเป็นปล้องสีขาวสลับดำ 6 - 9 ปล้อง ส่วนปลายหางเป็นสีขาวเสมอ ไม่มีขนแผงหรือขนตั้งชันที่คอหรือหลังเหมือนอย่างชะมดแผง หน้าผากแคบเหมือนหน้าหนู ขาค่อนข้างสั้น ถิ่นอาศัย, อาหาร อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนิเซีย ชะมดเช็ดกินสัตว์เล็กๆเป็นอาหารเช่น ไก่ นก หนู งู จิ้งเหลน กิ้งก่า ตลอดจนผลไม้ต่างๆและรากไม้บางชนิด พฤติกรรม, การสืบพันธุ์ อาศัยตามป่ารกทั่วไป แต่ไม่ขึ้นต้นไม้เหมือนพวกชะมดชนิดอื่น วิ่งได้เร็วมาก หากินบนพื้นดิน เป็นสัตว์หากินกลางคืนเหมือนชะมดทั่วไป กลางวันนอนตามใต้พุ่มไม้เตี้ย ๆ หรือตามกอหญ้าสูง ๆ บางครั้งอาจพบอยู่ตามต้นไม้ ชะมดเช็ดมีต่อมใกล้ทวารหนัก ซึ่งขับของเหลวมีกลิ่นฉุน โดยธรรมชาติสัตว์จะเช็ดของเหลวนี้กับตอไม้หรือกิ่งไม้ จึงเรียกชื่อสัตว์ชนิดนี้ว่า “ชะมดเช็ด” ของเหลวดังกล่าวนี้ใช้ทำยาและน้ำหอมได้ ต่อมกลิ่นที่ก้นชะมดเช็ดมีอยู่ทั้งในตัวผู้และ ตัวเมีย แต่ของตัวเมียเล็กกว่า บางครั้งเรียกว่า Musk Civet ชะมดเช็ดผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 2 ปี ไม่มีฤดูผสมพันธุ์ ตั้งท้องประมาณ 2 เดือน ออกลูกครั้งละ 2-4 ตัว จะออกลูกในโพรงดินซึ่งอยู่ใกล้ต้นไม้หรือตอไม้ ตัวเมียจะเลี้ยงลูก ส่วนตัวผู้จะอยู่กับตัวเมียเฉพาะตอนผสมพันธุ์เท่านั้น ชะมดเช็ดมีอายุยืนเกือบ 10 ปี สถานภาพปัจจุบัน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 สถานที่ชม สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น: