วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

กวางป่า

กวางป่า(กวางม้า)
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Sambar Deer
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Cervus unicolor
ลักษณะทั่วไป เป็นกวางขนาดใหญ่ ขนยาวหยาบมีสีน้ำตาลเข้ม ขนบริเวณคอจะยาวขึ้นหนาแน่นกว่าที่อื่นๆ ลูกกวางป่าเกิดใหม่จะไม่มีจุดขาว ๆ ตามตัวเช่น ในลูกเนื้อทรายหรือกวางดาว หางค่อนข้างสั้น มีเขาเฉพาะตัวผู้ เขามีข้างละ 3 กิ่ง เขาที่ขึ้นครั้งแรกมีกิ่งเดียว เมื่อเขาแรกหลุดเขาที่ขึ้นใหม่ มี 2 กิ่ง เมื่อเขา 2 กิ่งหลุด เขาที่ขึ้นใหม่มี 3 กิ่ง ปีต่อไปเมื่อผลัดเขาใหม่จะมีเพียง 3 กิ่งเท่านั้น ไม่เพิ่มมากกว่านี้ ผลัดเขาทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม หรือ เดือนเมษายน เขาแก่ในเดือนพฤศจิกายน มีแอ่งน้ำตาที่หัวตาทั้ง 2 ข้าง ขนาดใหญ่มากยื่นออกมาให้เห็นชัดเจน ยิ่งในฤดูผสมพันธุ์แอ่งน้ำตานี้จะยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นอีกและขับสารที่มีกลิ่นแรงมากออกมาซึ่งเป็นประโยชน์ในการดมกลิ่นตามหากัน เป็นสัตว์ที่มีหู ตา จมูกไวมาก ถิ่นอาศัย, อาหาร พบตั้งแต่ศรีลังกา อินเดีย เนปาล พม่า ไทย อินโดจีน จีนตอนใต้ มาเลเซีย สุมาตรา ชวา บอร์เนียว เซลีเบส ไต้หวัน ไหหลำ ฟิลิปปินส์ อัสสัม สำหรับประเทศไทย พบตามป่าดงดิบทั่วไปทุกภาคทั้งป่าสูงและป่าต่ำ ชอบกินใบไม้ และยอดอ่อนของพืชมากกว่าหญ้า อาหารในธรรมชาติของกวางได้แก่ เถาวัลย์อ่อน ๆ ยอดอ่อนของไม้พุ่มเตี้ย ๆ ใบไม้ใบหญ้าที่เพิ่งผลิใบ ใบไผ่ และชอบกินดินโป่งมาก พฤติกรรม, การสืบพันธุ์ ปกติชอบอยู่ตามลำพังตัวเดียว นอกจากฤดูผสมพันธุ์ ออกหากินตั้งแต่ตอนเย็นถึงเช้าตรู่ ส่วนกลางวันจะนอนในที่รกทึบ ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทั่วไปรวมทั้งป่าทึบ ชอบออกมาหากินอยู่ตามริมทาง ลำธาร และทุ่งโล่ง ชอบนอนแช่ปลักโคลนเหมือนกระบือเพื่อป้องกันแมลง ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะดุร้ายและหวงตัวเมียมาก ช่วงนี้ตัวผู้จะต่อสู้กันอย่างดุร้ายเพื่อแย่งตัวเมีย ว่ายน้ำเก่งและปราดเปรียว มันไม่ชอบช้างและกลิ่นของช้าง ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ตั้งท้องนานประมาณ 8 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัวในช่วงต้นฤดูฝน ลูกกวางจะเริ่มแยกจากแม่ไปหากินตามลำพังเมื่ออายุราว 1 ปีหรือ 1 ปีกว่า และโตกวางป่าพร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 18 เดือน อายุยืนประมาณ 15-20 ปี สถานภาพปัจจุบัน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 สถานที่ชม สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา

ไม่มีความคิดเห็น: